DeFi (ตกลงมันคืออะไร) ตอนที่ 1

Samret Wajanasathian
1 min readSep 27, 2020

ว่ากันตามตัวย่อกันเลย มันก็ย่อมาจาก Decentralized Finance หรือแปลเป็นภาษาไทยตรง ๆ ว่า ระบบการเงินแบบไม่มีศูนย์กลาง หรือ ไม่มีคนควบคุม แล้วถ้าไม่มีคนควบคุม แล้วใครจะควบคุมแทนหล่ะ?
เขาก็ให้นิยาม กันว่า ระบบการเงินเดิม นั้น ธนาคารควบคุม แต่อันใหม่นี้ประชาชนเป็นคนควบคุม
คำถามถัดมา แล้วมันดียังไง?
เขา (ก็เขาอีกนั้นหล่ะ) ก็บอกว่า มันจะทำให้ระบบการเงินนั้น โปร่งใสมากขึ้น (นั้นแปลว่าของเก่ามันไม่โปร่งใสหรือ?)
และตอนนี้ คำนี้ดังมากขึ้น เพราะ อะไร ๆ ก็ DeFi กันหมด
แต่เชื่อผมเถอะ ที่มันน่าสนใจ เพราะ มันให้ผลตอบแทนมาก (ถ้ามันไม่ได้ให้ผลตอบแทนมาก ก็ไม่รู้ว่าจะมีคนสนใจไหม)

แล้วจริง ๆ DeFi นี้มันดีจริงไหม ก่อนอื่น เราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า จริงๆ แล้วเราเข้าใจระบบการเงินแบบเก่าจริงหรือไม่ แล้ว เราต้องการแบบใหม่ทำไม

ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คน เข้าใจระบบการเงินแค่ เราฝากเงินที่ธนาคาร แล้วได้ดอก แต่ดอกมันต่ำ ก็เลยอยากได้ระบบการเงินสมัยใหม่ที่ดอกมันสูงกว่า แล้วทำไมเราถึงคิดได้ว่า ธนาคารควรให้ดอกเราสูงเพราะเราเห็นธนาคารปล่อยกู้แพงใช่หรือไม่ ?

ถ้าความคิดคุณคือเท่านี้ ผมแนะนำว่า ใช้ระบบการเงินแบบเก่าเถอะ

เรามาทำความเข้าใจกันให้ลึก ๆ ก่อน แบบง่าย ๆ
สมมุติ นาย ก ฝากเงิน เข้าธนาคารแห่งหนึ่ง ที่ 100 บาท ธนาคารจ่ายดอกให้นาย ก 25 สตางค์ ต่อปี หรือ 0.25 บาทต่อปี แปลว่า ถ้านาย ก ฝากเงินครบ 1 ปี ก็จะได้ดอก 25 สตางค์ พอธนาคารได้เงิน ธนาคารก็ไปปล่อยกู้โดยคิดดอก 18% ต่อปี หรือ 18 บาทต่อปี หรือเท่ากับ 1.5 บาทต่อเดือน

ปรากฎว่า ผ่านไป 15 วัน นาย ก ต้องการใช้เงิน 100 บาทเลยไปถอนเงินออกจากธนาคาร ด้วยข้อกำหนดของระบบการเงินแบบเก่า ธนาคารก็เลยต้องให้ถอนเงินไป 100 บาท

คำถามคือ ธนาคารเอาเงินที่ไหนมาจ่าย เพราะให้เงินเขากู้ไปแล้ว ซึ่งจริง ๆ ธนาคารต้องไม่จ่ายเงินให้ เพราะ เงินไม่มีแล้ว แต่ก็ต้องจ่ายให้ เพราะข้อกำหนดของระบบการเงินแบบเก่า และธนาคารก็คงต้องหาเงินจากไหนก็ไม่รู้มาให้เรา 100 บาท และก็ต้องรอคนที่ยืมไปคืนเงินมากก่อน
ผ่านไป 1 ปี คนยืม จ่ายแต่ดอกมาให้ 18 บาท และไม่ยอมจ่ายเงินต้น ธนาคาร ก็เลยต้องไปฟ้องร้อง เอาเงินตรงนี้คืน

อ่าน ตัวอย่างง่าย ๆ ตรงนี้ ผมอยากจะให้เห็นภาพของระบบการเงินแบบใหม่จริง ๆ หรือ DeFi ที่มันมาช่วยคืออะไร

มันคือการที่ นาย ก ฝากเงิน 100 แล้วได้ดอก 15% ต่อปี แทน 0.25% ต่อปี แต่เมื่อมีการกู้เงิน นาย ก จะรับรู้ว่าเงินเขาโดนกู้ไปแล้ว โดยนาย ข ที่จ่ายดอก 18% ต่อปีและนาย ก จะถอนเงินไม่ได้แล้วนะ แต่จะได้ดอกสูงมากแทน และ ถ้านาย ข ไม่จ่ายเงิน นาย ก ก็ต้องรับความเสี่ยงตรงนี้ได้

อันนี้คือตัวอย่างง่าย ๆ แต่ระบบมีความซับซ้อนมากกว่านี้เยอะ

เพราะมันจะมีทั้งการที่นาย ข จะโดน blacklist ในระบบ Blockchain ว่าต่อไปนี้ใครจะให้คนคนนี้ยืม ก็ต้องคิดให้ดี เพราะมันลบไม่ได้

เมื่อมีระบบ blacklist มันก็เลยต้องมีระบบการทำ KYC บน Blockchain มาอีก และไหนจะต้องมี ระบบ NFT เพื่อสร้างการยึดทรัพย์ขึ้นมา

ระบบ DeFi จริง ๆ ไม่ได้ง่าย แต่มันมาแทน และคัดคนที่ชอบโกง ออกจากโลกเราได้แบบถาวร

และสิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือ คนจ่ายดอกเงินกู้ได้ คือคนที่มีความสามารถหาเงิน ชนะดอกเบี้ยได้ ซึ่งในโลกเรานั้น คนกลุ่มนี้ ไม่ได้มีมาก แต่มีจำกัด ส่วนคนที่มีมากคือคนที่มั่นใจว่าหาได้ แต่พอหาไม่ได้ ไม่รับผิดชอบ และโกง จนเป็น NPL กันทั่วบ้านทั่วเมืองนะครับ

ถามตัวเองก่อนครับ อยากเข้า DeFi ยอมรับได้ไหม ว่าต้องเปิดเผยตัวตน ต้องโดน Blacklist และอื่น ๆ ถ้าบอกว่า DeFi ที่ใช้ เขาไม่เห็นต้องทำ ถามตัวเองอีกทีครับ
ให้เงินใครก็ไม่รู้ คุณ ให้ได้จริงหรือ แล้วอันนั้นมัน DeFi จริงหรือ? ถามตัวเองให้มาก ๆ ก่อนถามคนอื่นครับ

อ่านละเอียดตอน 2

--

--

Samret Wajanasathian

จงทำตัวเล็ก แต่เงาใหญ่